วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ


       ความสัมพันธ์กับสหรัฐ ฯ ฟิลิปปินส์มีความผูกพันแน่นแฟ้นกับสหรัฐ ฯ มากที่สุด จนกล่าวกันว่า ฟิลิปปินส์เป็นรัฐ 51 ของสหรัฐ ฯ ในขณะนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐ ฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางทหาร เศรษฐกิจและวัฒนธรรมแก่ฟิลิปปินส์เป็นอันมาก ได้มีข้อตกลง และสัญญาทางทหารระหว่างกันอยู่สามฉบับ 

       หลังจากเวียดนามใต้ และกัมพูชาตกเป็นของคอมมิวนิสต์ เมื่อปี พ.ศ.2518 ได้มีการกล่าวถึงปัญหาฐานทัพสหรัฐ ฯ ในฟิลิปปินส์ ต่อมาในปี พ.ศ.2519 สหรัฐ ฯ และฟิลิปปินส์ได้นำข้อตกลงฉบับแรกที่ทำไว้ เมื่อปี พ.ศ.2490 มาทบทวน เพื่อแก้ไขใหม่ มีการเจรจากันหลายครั้ง ในที่สุดได้บรรลุข้อตกลงในปี พ.ศ.2522 โดยสหรัฐ ฯ ยืนยันในอธิปไตยของฟิลิปปินส์ เหนือฐานทัพสหรัฐ ฯ ในฟิลิปปินส์ทุกแห่ง

       ความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และทำการค้าระหว่างกัน ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อปี พ.ศ.2519 เริ่มทำการค้าระหว่างกัน เมื่อปี พ.ศ.2515
ความสัมพันธ์กับประเทศจีน เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และทำการค้าระหว่างกัน ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างกัน เมื่อปี พ.ศ.2518

       ความสัมพันธ์กับประเทศญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของฟิลิปปินส์ เช่นเดียวกับสหรัฐ ฯ และญี่ปุ่น ลงทุนในฟิลิปปินส์เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐ ฯ

       ความสัมพันธ์กับประเทศอินโดจีน ได้แก่ กัมพูชา และเวียดนาม ประเทศกัมพูชา ฟิลิปปินส์ได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชา ในระดับเอกอัคราชทูต เมื่อปี พ.ศ.2519 เวียดนามได้มีการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างกัน เมื่อปี พ.ศ.2519

       ปัญหาหมู่เกาะสแปรตลี ฟิลิปปินส์ไม่เห็นด้วย กับปฎิบัติการของไต้หวัน และเวียดนามใต้ ที่พยายามจะยึดครองเกาะสแปรตลี ในทะเลจีนใต้ และได้แถลงปฎิเสธ ข้อกล่าวหาของเวียดนามใต้ เมื่อปี พ.ศ.2517 ที่ว่า ฟิลิปปินส์ส่งกองทหารเข้ายึดครองเกาะสองแห่ง ในหมู่เกาะสแปรตลี และย้ำว่าฟิลิปปินส์ไม่เคยอ้างสิทธิใด ๆ เหนือหมู่เกาะสแปรตลี นอกจากหมู่เกาะกาลายา ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับเกาะสแปรตลี เท่านั้น 

       ความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอาเซียน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย ได้ร่วมมือกันก่อตั้งสมาคมอาสา (ASA) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2504 ต่อมาได้เชิญอินโดนิเซีย กับสิงคโปร์เข้าร่วมด้วย และจัดตั้งเป็นสมาคมใหม่ เรียกว่าสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (Asean) เมื่อปี พ.ศ.2510 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และวิชาการระหว่างประเทศสมาชิก และต่อมาได้ขยายขอบเขตไปสู่ความร่วมมือทางการเมืองด้วย 

       ฟิลิปปินส์มีปัญหาขัดแย้งกับมาเลเซียเรื่องรัฐซาบาห์ ซึ่งฟิลิปปินส์เรียกร้องสิทธิเหนือดินแดนซาบาห์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 ก่อนที่ซาบาห์จะรวมเข้ากับสหพันธ์มาเลเซีย ต่อมาความขัดแย้งรุนแรงขึ้น โดยฟิลิปปินส์กล่าวหาว่า มาเลเซียให้การสนับสนุนกบฎมุสลิมทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ จนในที่สุดประเทศทั้งสองได้ตัดความสัมพันธ์กัน ในปลายปี พ.ศ.2511 และได้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอีกครั้ง ในกลางปี พ.ศ.2513 ปัญหาข้อขัดแย้งรัฐซาบาห์ ยุติลงได้ชั่วคราวในปี พ.ศ.2520

       สำหรับประเทศอื่น ๆ ในสมาคมอาเซียนอีกสามประเทศคือ ไทย อินโดนิเซีย และสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ก็มีความสัมพันธ์อันดีมาตลอด

        ในปลายปี พ.ศ.2518 ฟิลิปปินส์ได้เจรจากับอินโดนิเซีย เพื่อให้อินโดนิเซียไกล่เกลี่ยเกี่ยวกับปัญหากบฎมุสลิมทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ต่อมาในปลายปี พ.ศ.2521 อินโดนิเซียและมาเลเซียได้เสนอให้ฟิลิปปินส์ เปิดการเจรจาสันติภาพกับกบฎมุสลิมต่อไป โดยที่สองประเทศยินดีจะเข้าเป็นผู้พิจารณาไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งด้วย

แนวนโยบายเกี่ยวกับประเทศไทย 
       ด้านการเมือง ตามสนธิสัญญามนิลา ปี พ.ศ.2497 (SEATO) ฟิลิปปินส์เคยแถลง เมื่อปี พ.ศ.2522 ว่า ในแง่กฎหมายกฎบัตรของสนธิสัญญา ยัมีผลใชับังคับอยู่แต่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาอีก เพราะไม่เชื่อว่า ประเทศไทยจะถูกโจมตีจากภายนอก

       ปัญหากบฎมุสลิมในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไทยได้ เนื่องจากกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโรของฟิลิปปินส์ มีขีดความสามารถในการดำเนินการต่อสู้ ที่ก้าวหน้ามากกว่า ขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก) ในภาคใต้ของไทย ซึ่งหากกบฎมุสลิมในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ดำเนินการบรรลุเป้าหมายแล้ว ย่อมเป็นทางให้ขบวนการโจรก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย ถือเป็นแบบอย่างได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น